เป็นโครงการสนับสนุน “อาหารเพื่อสุขภาพ” เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมวัยและการมีสุขภาพดีของเด็ก-เยาวชนด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กๆก่อนวัยเรียนและวัยประถมได้รับสารอาหารครบถ้วนเพิ่มขึ้น ทีมงานจึงได้เข้าเยี่ยม "มูลนิธิบ้านพระพร" ซึ่งเป็นมูลนิธิแรกที่เราเริ่มโครงการนี้ ทีมงานได้ประเมินหมวดหมู่อาหารจากเมนูอาหารที่เด็กๆรับประทานอยู่เป็นประจำพบว่า
อาหารที่น้องๆยังไม่ได้รับอย่างเพียงพอ มีดังนี้
- อาหารหมู่ 1โปรตีน จากเนื้อปลาทะเล ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่ว
- อาหารหมู่ 2 คาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย
- อาหารหมู่ 4 ผลไม้ต่างๆตามฤดูกาล เช่น ฝรั่ง กล้วย มะละกอ แอปเปิ้ล ฯลฯ
เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม 2564 ทีมงาน Healthiest Me Thailand จึงดำเนินโครงการโดยส่ง “ข้าวกล้องหอมมะลิ” ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีน้อยจำนวน 70 กิโลกรัมต่อเดือน ให้เด็กๆที่มูลนิธิบ้านพระพรได้รับประทานเป็นประจำเป็นต้นมาจนถึงปัจจุปัน
ในเดือนกันยายน 2564 มีผู้ประกอบการ www.สดสด.com ได้เข้าร่วม “โครงการเสริมอาหารให้น้องสุขภาพดี” โดยบริจาคผลไม้ให้เด็กๆ มูลนิธิบ้านพระพร ได้แก่ กล้วยน้ำว้า 10 หวีและผลไม้ตามฤดูกาล 10 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่สอง ของเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุปัน
ต่อมาในเดือน มกราคม 2566 Healthiest Me Thailand ได้เริ่มบริจาคปลาทูจากกำไรที่ได้รับในโครงการที่สอง ชื่อโครงการ “ซื้อสุขภาพดี พี่ให้น้อง” (https://healthiestme.org/project2/) คือ โครงการจัดตั้งชั้นฝากขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนำกำไรที่ได้รับมาสนับสนุนการบริจาคอาหารในโครงการ “เสริมอาหารให้น้องสุขภาพดี” ซึ่งโครงการที่สองนี้เริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้โครงการ เสริมอาหารให้น้องสุขภาพดี ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนผู้ร่วมบริจาคสนับสนุนการส่งปลาทูให้เด็กรับประทาน ทำให้ปัจจุปันเราสามารถส่งปลาทู 33 เข่งให้น้องๆได้ทุกสัปดาห์
โครงการ “เสริมอาหาร ให้น้องสุขภาพดี” ขอเชิญชวนท่านเข้าร่วมโครงการและร่วมสร้างเครือข่ายเกื้อกูลสังคมไปด้วยกัน โดยท่านสามารถบริจาคอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ผลไม้ตามฤดูกาล ผักเกษตรอินทรีย์หรือผักปลอดสารพิษ โปรตีนอนามัยชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ ปลาทะเล ไข่ไก่อนามัย นมวัว นมถั่วเหลือง ฯลฯ ให้กับมูลนิธิบ้านพระพรและบ้านเด็กกำพร้าที่เข้าร่วมโครงการฯได้โดยตรง โดยมูลนิธิฯนั้นๆสามารถออกใบอนุโมทนาให้ท่านตามความประสงค์ หากท่านต้องการเป็นผู้สนับสนุน “อาหารเพื่อสุขภาพ” ร่วมกันกรุณาติดต่อเรา
ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ทีมงาน Healthiest Me Thailand
1.ผู้ประกอบการ www.สดสด.com ได้เข้าร่วม “โครงการเสริมอาหารให้น้องสุขภาพดี” โดยบริจาคผลไม้ให้เด็กๆ มูลนิธิบ้านพระพร ที่อยู่ 600/199-200 ถ.ริมคลองลาดพร้าว แขวงบางกะปิเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครฯ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า 10 หวีและผลไม้ตามฤดูกาล 10 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่สอง ของเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุปัน
การร่วมบริจาคของ www.สดสด.com นำมาซึ่งความซาบซึ้งใจแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสและทีมงาน Healthiest Me Thailand ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
เด็กวัยเรียน เป็นวัยที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงสร้างร่างกาย สติปัญญาและสุขภาพของเด็ก ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลายและเพียงพอเพื่อให้เด็กวัยเรียน สมองดีฉลาดเรียนรู้เร็ว มีพัฒนาการได้อย่างเหมาะสมตามวัย มีการสร้างภูมิต้านทานโรคไม่เจ็บป่วยบ่อย ร่างกายเจริญเติบโตสมส่วน และระบบต่างๆทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาหารหลัก 5 หมู่ และสารอาหาร
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว
อาหารหมู่นี้ให้สารอาหารโปรตีนเป็นหลัก รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุ มีหน้าที่หลักทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก ฮอร์โมน เอนไซม์ และใช้เป็น แหล่งพลังงานสำรองของร่างกายเมื่อได้รับสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ไม่เพียงพอ
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง เผือก มัน และน้ำตาล
อาหารหลักหมู่นี้ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก มีหน้าที่หลักในการ ให้พลังงานแก่ร่างกายเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงาน เดิน ทำงานบ้าน ออกกำลังกายเป็นต้น ถ้ารับประทานอาหารหมู่นี้มากเกินความต้องการของร่างกาย สารอาหารคาร์โบไฮเดรตจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปไขมันสะสมในร่างกาย
หมู่ที่ 3 ผัก
อาหารหมู่นี้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใยอาหารช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลไขมันเข้าสู่ร่างกาย และนำพาสารพิษสะสมขับออกมากับอุจจาระ
หมู่ที่ 4 ผลไม้
ผักและผลไม้เป็นแหล่งของใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ มีหน้าที่หลัก ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมี(phytochemical) ซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
• ผักและผลไม้สีเขียว ลดการเสื่อมจอประสาทตา ลดความเสี่ยง มะเร็งเต้านม เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ตำลึง ผักโขม ฝรั่ง
• ผักและผลไม้สีเหลือง-ส้ม รักษาหัวใจและหลอดเลือด ภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย สายตา เช่น แครอท ฟักทอง ข้าวโพด มะละกอ ส้ม สับปะรด
•ผักและผลไม้สีนำ้เงิน-ม่วง ชะลอความเสื่อมของเซลล์ความจำ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ข้าวโพดสีม่วง กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง องุ่น ลูกหม่อน แก้วมังกร
• ผักและผลไม้สีขาว-น้ำตาล สร้างเซลล์ให้แข็งแรง ลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ ยังยั้งการเกิดเนื้องอก เช่น ดอกแค กระเทียม หัวไชเท้า ละมุด ลำไย
• ผักและผลไม้สีแดง ช่วยป้องกันและยับยั้งการเติบโตของเซลล์ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และเยื่อบุมดลูก ช่วยให้ภาวะ ผิดปกติเช่น โรคหัวใจเบาหวาน กระดูกพรุนดีขึ้น เช่น มะเขือเทศ พริกหวาน แตงโม
หมู่ที่ 5 ไขมันต่างๆ เช่น ไขมันจากสัตว์ และไขมันจากพืช อาหารหมู่นี้จะให้สารอาหารไขมัน มีหน้าที่หลักในการให้พลังงานที่ใช้ ประจำวัน และกรดไขมันที่จำเป็นกับร่างกาย ถ้าเรากินอาหารที่มีไขมันมากเกิน ความต้องการ จะถูกเก็บสะสมในรูปไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
อาหารแต่ละชนิดมีปริมาณสารอาหารแตกต่างกันไป โดยสารอาหารมี ทั้งหมด 6 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ ไม่มีอาหารชนิดใดที่มีสารอาหารครบทั้ง 6 ชนิด ดังนั้น เราจึงต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายชนิด และปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในเด็กวัยเรียน
ขอขอบคุณที่มา "สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข: แนวทางอาหารกลางวันเด็กวัยเรียน"
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2563 - 2564 เปิดเผยว่า หลักการของมติที่หนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต คือการมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร คือสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม โดยมีมติครอบคลุม 5 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย
1. สิทธิในอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง โดยเป็นหน้าที่ของรัฐและทุกภาคส่วนของสังคมที่จะดำเนินการร่วมกันด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. ใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ. 2568 ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้
3. การพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ครอบคลุมเรื่องการผลิต การสำรอง การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร
4. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต
5. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต
ขอขอบคุณที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่: https://www.nationalhealth.or.th/en/node/1449
ขอขอบคุณที่มา สสส.